ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

image_slide: 
Undefined
sub title: 
กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
เนื้อหา: 

รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2567

       

       ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 112.2 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.2 สาเหตุหลักจากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กราคายังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่ฟื้นตัวทำให้มีอุปทานเหล็กส่วนเกินสูง หมวดสุขภัณฑ์ลดลงจากความต้องการใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงจากราคายางมะตอยตามการลดลงของราคาพลังงาน (ถ่านหิน) ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ดัชนีราคาสูงขึ้น

       เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยภาพรวมดัชนีสูงขึ้นเกือบทุกหมวด จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพื่อให้การก่อสร้างโครงการของภาครัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นจากยางมะตอยเนื่องจากมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนเพิ่มขึ้น

รายละเอียด.......

คำชี้แจงการปรับปรุงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปีฐาน 2553

              กระทรวงพาณิชย์ โดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า เป็นหน่วยงานที่จัดทำดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เป็นดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ย  ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของการก่อสร้างต่าง ๆ การจัดทำดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง จำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยจะมีการสำรวจปรับปรุงลักษณะจำเพาะสินค้า (Specifications) และแหล่งจัดเก็บข้อมูลราคาเป็นประจำทุกปี ในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างรายการ (Items) น้ำหนักรายการสินค้า (Weights) และปีฐาน (Base year) จะดำเนินการปรับทุกๆ 5 ปี ตามการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของประเทศไทย (Input – Output Table of Thailand) ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลจากตารางดังกล่าวในการจัดทำซึ่งตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตที่ (สศช.) จัดทำและเผยแพร่ล่าสุด คือ ปี2553 นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบการพิจารณา เช่น สำนักงบประมาณกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทผู้แทนจำหน่าย เป็นต้น

รายละเอียด.......