
ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด
(CONSUMER PRICE INDEX PROVINCE)
การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด
1. หลักการและเหตุผล
เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
และมีการกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น
โดยเฉพาะด้านการลงทุนจากต่างประเทศ
และการท่องเที่ยว
ทำให้ข้อมูลระดับจังหวัดมีความสำคัญมากขึ้น
สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า
จึงได้ริเริ่มจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดขึ้น
เพื่อเป็นข้อมูลเศรษฐกิจสำหรับจังหวัดโดยหน่วยงานภาครัฐ
เอกชน
ผู้สนใจและนักวิชาการทั่วไปสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
และดำเนินการต่าง ๆ
ทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเป็นข้อมูลที่สะท้อนค่าครองชีพ
ค่าจ้าง
ค่าแรงในจังหวัดนั้น ๆ
ได้เป็นอย่างดี
2. วัตถุประสงค์
การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด
มีวัตถุประสงค์
2.1 เพื่อวัดความเคลื่อนไหวของระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปที่ประชาชนในจังหวัดนั้น
ๆ ใช้ในการอุปโภค บริโภค
2.2 เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของจังหวัด สำหรับประกอบการตัดสินใจวางแผนพัฒนาและดำเนินการต่าง
ๆ ทางเศรษฐกิจ
2.3 ใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด
3. เป้าหมาย
3.1 ปีงบประมาณ 2544 ดำเนินการในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก
อุบลราชธานี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
3.2 ดำเนินการตามแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9 (ปีงบประมาณ 2545 2549) คือ
3.2.1 ปีงบประมาณ 2545 2546 ดำเนินการเพิ่มอีก
13 จังหวัด คือ สิงห์บุรี จันทบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา
ขอนแก่น และสงขลา เชียงราย หนองคาย สุรินทร์ ศรีสะเกษ และภูเก็ต
3.2.2 ปีงบประมาณ 2547 2549 ดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบ
75 จังหวัด
4. วิธีดำเนินการ
4.1 ศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค - บริโภคในระดับรายได้ต่างๆ
ของแต่ละจังหวัด เพื่อวางแนวทางในการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด
และให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ
4.2 ศึกษา วิเคราะห์คัดเลือกและกำหนดจังหวัดตัวแทน โดยการสำรวจสุ่มอำเภอตัวแทนและคัดเลือกกำหนดรายการสินค้าและบริการของแต่ละจังหวัด
รวมถึงการกำหนดลักษณะจำเพาะของสินค้าอุปโภค บริโภค
4.3 รวบรวมข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคแต่ละจังหวัด
4.4 จัดทำเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจระดับจังหวัด โดยเริ่มจากปีฐาน จนถึงปัจจุบัน
5. วิธีการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด
5.1 กำหนดลักษณะครัวเรือนดัชนี
ครัวเรือนดัชนี หมายถึง ครัวเรือนของผู้บริโภคที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย
กล่าวคือ
- เป็นครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ
- มีสมาชิกของครัวเรือน
1-5 คน
- กำหนดรายได้ โดยครอบคลุมรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนในปีฐาน
(โดยตัดรายได้ขั้นต่ำสุด-สูงสุดออก)
5.2
การกำหนดโครงสร้าง
โครงสร้างดัชนีราคาผู้บริโภคประกอบด้วย หมวดหมู่สินค้า
และรายการสินค้าที่ครัวเรือนบริโภคทั้งหมดแบ่งเป็น 7 หมวดหมู่ ดังนี้
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
2. หมวดเครื่องนุ่งห่ม
3. หมวดเคหสถาน
4. หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
5. หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร
6. หมวดการบันเทิง
การอ่านและการศึกษา
7. หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
5.3 การกำหนดปีฐาน
การกำหนดให้ปีใดปีหนึ่งเป็นปีฐาน จะพิจารณาจากปีที่ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
พฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนเป็นไปตามปกติวิสัย ระดับราคาเป็นไปตามภาวะอุปสงค์อุปทานของระบบเศรษฐกิจ
การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดเริ่มแรกกำหนดให้ปี
2541 เป็นปีฐานตาม ปีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2541 ของสำนักสถิติแห่งชาติ
โดยเป็นปีแรกที่มีการสำรวจและรายงานผลค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นรายการสินค้าในระดับจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมจะมีการรายงานผลค่าใช้จ่ายเป็นรายหมวดของกลุ่มสินค้าเท่านั้น
และปัจจุบันใช้ปี 2545 เป็นปีฐาน
5.4 การคัดเลือกและกำหนดรายการสินค้า
การกำหนดรายการสินค้าและบริการที่เป็นตัวแทนการจัดเก็บราคาสำหรับ
จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค โดยวิธีการพอสรุปได้ดังนี้
1. คัดเลือกรายการที่มีความสำคัญ
ในการใช้จ่ายของครัวเรือน ต่อรายการทั้งหมด ตั้งแต่ร้อยละ 0.01 - 0.03
2. เลือกรายการสินค้าและบริการแบบผสม
คือ เลือกรายการที่มีความสำคัญในการ ใช้จ่ายของครัวเรือน และส่วนที่เหลือเลือกเพิ่มเติมใช้แบบคัดเลือกจากตัวอย่าง
โดยยึดหลักการ จัดเก็บราคาและการกำหนดลักษณะจำเพาะของสินค้านั้น
5.5 การกำหนดน้ำหนักถ่วง
การกำหนดน้ำหนักถ่วง คือการให้ความสำคัญของค่าใช้จ่ายสำหรับรายการสินค้าและบริการตามความสำคัญหรือจำเป็นต่อการครองชีพ
น้ำหนักที่ใช้คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดจะเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในจังหวัดนั้นๆ
ต่อรายการสินค้าที่กำหนดใช้ในการคำนวณ โดยมีการคัดเลือกมาจากรายการที่สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติแล้ว
โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายของรายการสินค้าที่คล้ายกันในทางกายภาพและคุณสมบัติจะถูกรวมเข้าโดยตรง
คือ นำค่าใช้จ่ายของสินค้าที่คล้ายกันมารวมให้กับสินค้าที่ต้องการจัดเก็บราคาเพราะคาดว่าแนวโน้มของราคาจะเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน
2. หลังจากรวมค่าใช้จ่ายของรายการย่อยเข้าด้วยกันโดยตรงแล้ว
มีค่าใช้จ่ายของสินค้าบางชนิดที่ยังไม่ได้รวมให้กับรายการใด จึงต้องนำไปกระจายให้กับทุกรายการในหมวดย่อยนั้น
ตามอัตราส่วนของความสำคัญของค่าใช้จ่าย
3. ค่าใช้จ่ายในรายการเบ็ดเตล็ดหมวดอื่นที่ไม่ได้กำหนดให้อยู่ในหมวดใดจะกระจายให้กับทั้งหมวดทุกรายการตามอัตราส่วนความสำคัญของค่าใช้จ่ายที่สำรวจมาได้
6. สูตรการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค
การคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคในทางปฏิบัติจะใช้สูตรดัดแปลงด้วยวิธีพีชคณิต
จากสูตรลาสแปร์(Modified Laspeyres)

7. การกำหนดตลาดและการจัดเก็บราคา
กำหนดพื้นที่ให้ครอบคลุมมากที่สุด
ตั้งในชุมชนที่หนาแน่นผู้บริโภคซื้อสินค้าได้สะดวก เป็นตลาดที่ใหญ่ มีสินค้ามากมายหลายชนิด
เป็นแหล่งใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วไป ไม่ใช่ตลาดสำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่รายได้สูงมากเพียงเฉพาะกลุ่มเดียว
ข้อมูลราคาจะจัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค
และเจ้าหน้าที่ที่จัดจ้างในแต่ละอำเภอ สินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงราคารวดเร็ว
เช่น อาหารสด จะจัดเก็บราคาทุกสัปดาห์ ส่วน สินค้าที่ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนักจะจัดเก็บราคาเดือนละครั้ง
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า
ค่าพาหนะ เป็นต้น
คำชี้แจง
: ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานระดับจังหวัด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน คือดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่นำรายการสินค้าอาหารสดและกลุ่มพลังงานมาคำนวณดัชนี
เพราะสินค้ากลุ่มอาหารสดจะมีการเคลื่อนไหวของราคาที่มีความถี่สูงและมีฤดูกาล
ส่วนกลุ่มพลังงานจะเป็นกลุ่มที่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายด้านการเงิน
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานระดับจังหวัด
คือดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณมาจากกลุ่มราคาสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อใช้วัดเงินเฟ้อพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของจังหวัด
----------------------------------
|