
โพสต์โดย : nooknook
โพสต์เมื่อ : 5/6/2015 11:16:52
IP Address : 61.90.11.24
|

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี กล่าวว่า ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะการค้าปลีก เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาแล้ว พบว่า มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น จากการรวบรวมสถิติของ CBRE Research ในปี พ.ศ.2557 พบว่า ประเทศจีนเป็นตลาดค้าปลีกที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากที่สุด ตามด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ฮ่องกง ไทย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เมียนมา และออสเตรเลีย ตามลำดับ การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนของชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของทุกประเทศอย่างมหาศาล เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการผูกพันการเปิดตลาดของภาคธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service : AFAS) ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยของ ไอทีดี ในรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของแต่ละประเทศสมาชิก สรุปได้ว่า แนวนโยบายและข้อผูกพันการเปิดตลาดบริการค้าส่งและค้าปลีกของอาเซียนมีลักษณะที่หลากหลาย โดยสิงค์โปร์ บรูไน กัมพูชา และเวียดนาม เปิดเสรีอย่างเต็มที่ ขณะที่มาเลเซีย เมียนมา และอินโดนีเซีย ยอมเปิดตลาดในระดับปานกลาง ส่วนฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว ยังเปิดตลาดค่อนข้างจำกัดเพียงบางสาขาเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องตระหนักถึงความหลากหลายในตลาดอาเซียน เพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสและการพัฒนานโยบายหรือ กลยุทธ์ของประเทศในการสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืน
|